(ทางทีมงานยังต้องการ ภาพประกอบและข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้ขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวอุดรธานี ส่งภาพถ่ายที่ท่านถ่ายเอง มาที่ clickteams@gmail.com โดยที่ท่านสามารถใส่ลายเซ็นแล้วระบุว่า สำหรับ UDclick.com ภาพที่ถูกเลือกมาใช้จะถูกเก็บไว้ใช้ในฐาน ข้อมูลนี้ตลอดไป ส่วนภาพที่ไม่ได้นำมาใช้จะถูกจัดแสดงอยู่ในหมวด Gallery ของเว็บไซท์ Udclick.com)
ประวัติความเป็นมาของหอการค้าจังหวัดอุดรธานี
จังหวัดอุดรธานีในขณะนั้นองค์กรเอกชนไม่มีการรวมตัวกันทำให้ขาดพลังในการดำเนินการทางธุรกิจระบบราชการขาดการประสานงานกับเอกชนผู้ระกอบ การค้าสภาหอการค้าไทย และภาครัฐได้สนับสนุนให้มีการก่อตั้งหอการค้าในต่างจังหวัดเพื่อเป็นองค์กรที่สามารถประสานงานให้เศรษฐกิจพัฒนาได้ทั่วประเทศ
หอการค้าจังหวัดอุดรธานี เป็นองค์กรของสถาบันนักธุรกิจเอกชนเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มพ่อค้า นักธุรกิจ การเงิน การอุตสาหกรรม มีผู้ร่วมในการจัดตั้งจำนวนมาก เช่น นายสมชัย ไกรครุฑรี, นายสุระชัย ทวีแสงสกุลไทย, นายวิบูลย์ แช่มชื่น, นายสวัสดิ์ ผดุงมาตย์วรกุล , นายเจษฎา เผ่าพงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ โดยเฉพาะนายศิริ คูสกุล ถือได้ว่าเป็นผู้ซึ่งเริ่มจุดประกายให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดอุดรฯ รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรเอกชนตามนโยบายของรัฐในสมัยนั้น และได้มีการประชุมเพื่อจัดตั้งหอการค้าฯ ณ ห้องประชุม หจก.อุดร ช.ทวี และที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ นายสุระชัย ทวีแสงสกุลไทย เป็นกรรมการเลขานุการก่อตั้ง ดำเนินงานประสานงาน ก่อนจะมีการยื่นขอจดทะเบียน โดยคณะกรรมการผู้ร่วมก่อตั้งได้มอบหมายให้ กรรมการจำนวน 5 ท่าน เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนหอการค้าต่อพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี ได้แก่
1. นายปราโมทย์ ยงพงศา หจก. ไทยอุดม
2. นายมณฑล เรืองพัฒนา หจก. มณฑลหล่อยาง
3. นายเพ็ง อาวัชราการ บริษัท อุดรเงินแชร์ จำกัด
4. นายสมคูณ หอบรรลือกิจ หจก. สมคูณพืชผล
5. นายวรวุฒิ ศรีหล่มสัก บริษัท เรืองอุทัย จำกัด
คณะกรรมการได้ยื่นคำขอนุญาตจัดตั้งหอการค้าจังหวัดอุดรธานีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2527 ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านต่าง ๆ ในจังหวัดอุดรธานี และมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมทางสังคม เช่นเป็นผู้นำสโมสรลูกเสือ สโมสรโรตารี่ สโมสรไลออนส์ เป็นต้น เมื่อรวบรวมสมาชิกได้ประมาณ 100 คน และผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะนายทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัด ได้อนุญาตให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2527
จึงนับได้ว่าหอการค้าจังหวัดอุดรธานีได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2527 โดย นายพิชัย รัตตกุล เป็นประธานในพิธีเปิด สำนักงานชั่วคราวตั้งอยู่ที่ 53 – 54 ถ.โพศรี อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งอยู่ตรงข้ามสวนศรีเมือง และในปีที่ก่อตั้งรวบรวมสมาชิกได้ทั้งหมด 121 คน ประธานก่อตั้งคือ นายปราโมทย์ ยงพงศา สถานการณ์ในขณะนั้น เป็นการสร้างรูปแบบขององค์กรขึ้นใหม่ การดำเนินงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากผู้ประกอบการขาดความเข้าใจในแนวทางของหอการค้าฯ ได้รับคำปรึกษาจากสภาหอการค้าไทย และเงินสนับสนุนเพียง 20,000 บาท ผู้ที่เป็นประธานหอการค้า จึงเป็นผู้ที่เสียสละมากที่สุด และได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมก่อตั้งในฐานะที่มีอาวุโสสูงสุด
เพราะในขณะนั้นผู้คนทั่วไปมองไม่เห็นถึงความสำคัญของกิจกรรมของหอการค้าฯ ต้องจัดหารายได้เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงาน รายได้ส่วนหนึ่งมาจากการจัดเก็บค่าบำรุงสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของหอการค้า จึงมักจะมีคำถามว่า เป็นสมาชิกแล้วได้อะไร และไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร จึงต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย โดย นายสุระชัย ทวีแสงสกุลไทย ได้เสนอให้มีการจัดทัวร์ท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก และได้ถือเป็นแบบอย่างในการจัดหารายได้ของหอการค้าฯ อื่น ๆ อีกหลายแห่งในเวลาต่อมา
ปัจจุบันรูปแบบขององค์กรมีความชัดเจนมากขึ้น มีระบบและระเบียบเป็นที่ยอมรับ เช่น การจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการหอการค้า มีผลงาน กิจกรรมเด่นชัด เป็นที่ยอมรับจากหน่วยราชการสามารถประสานงานและเสนอแนะการทำงานด้านต่าง ๆ ได้ ต่อมาหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ได้ย้ายมาเช่าอาคารพาณิชย์ เป็นที่ทำการ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 106 ถ.ประจักษ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี และคณะกรรมการบริหารสมัยที่ 7 ได้ดำเนินการเตรียมสร้างอาคารสำนักงานเป็นที่ทำการถาวร ตามนโยบายหลักที่ได้รับการผลักดันจากกรรมการหอการค้าฯ ทุกสมัยตั้งแต่ก่อตั้ง โดยยึดถือแนวทางคือต้องเป็นการจัดหาทุนด้วยหอการค้าเอง นายวิบูลย์ ตรีวัฒน์สุวรรณ ประธานหอการค้าฯ สมัยนั้น ได้ขออนุญาตจากจังหวัดให้หอการค้าฯ เป็นผู้จัดงานประจำปีทุ่งศรีเมือง และได้เริ่มจัดตั้งกองทุนก่อสร้างสำนักงานหอการค้าฯ แต่ด้วยเป็นระยะแรกกองทุนจึงสะสมไม่ได้มากนัก ในสมัยที่ 6 โดยนายสมชัย ไกรครุฑรี เป็นประธานบริหารฯ เริ่มมีการสะสมกองทุนอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และเพียงพอสำหรับก่อสร้างอาคารสำนักงานถาวร คณะกรรมการสมัยที่ 7 จึงได้มีมติให้ นายธิติ พินิจการวัฒน์กุล เป็นผู้ติดต่อประสานงานจัดหาพื้นที่ก่อสร้าง
โดยได้พื้นที่บนที่ดินราชพัสดุแปลงที่ 3L-6L-R มีเนื้อที่ 985 ตารางวา ปี 2542 นายกฤษฎา คุณะปุระ ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าฯ ได้นำเรื่องการจัดหา สถานที่ของหอการค้าฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสมัยที่ 8 คณะกรรมการมีมติเห็นชอบในการขอเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ตามเจตนารมย์ของคณะกรรมการสมัยก่อน ๆ ที่ได้วางนโยบายไว้ปี 2543-2544
การดำเนินงานจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและปรับเปลี่ยนตำแหน่งของอาคารเพื่อความเหมาะสมกับภูมิทัศน์ตลอดจนการประสานงานกับกรมธนารักษ์ที่ดูแลพื้นที่ของราชพัสดุ นายนรินทร์ จูมพรักษ์ ประธานหอการค้า สมัยที่ 9 ได้แต่งตั้ง นายเอกณรงค์ กองพันธ์ เป็นกรรมการฝ่ายประสานงานด้านต่าง ๆ การออกแบบหอการค้าฯ ได้รับเกียรติจาก ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ ได้ให้แนวคิดและกรอบของการออกแบบก่อสร้างโดยมอบให้ นายอภินันท์ พงศ์เมธากุล สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบให้ทรงความเป็น “เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นอีสาน” เป็นอาคารสองชั้นหลังคาไทยทรงสูงมีหน้าจั่วรัศมีพระอาทิตย์ โดยที่หน้าจั่วรัศมีพระอาทิตย์นั้นเป็นระบบสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นถึงดินแดนในภาคอีสาน ซึ่งเป็นดินแดนแห่งพระอาทิตย์ขึ้น นอกจากนั้นยังประดับตกแต่งหลังคา คือ “ปั้นลมไม้ข่มจาก” หรือ “ป้านลมไม้ข่มจาก” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นอีสานที่สามารถพบเห็นได้ในชนบท เช่น เถียงนา ขนำ ทับ กระท่อม เป็นต้น ทั้งนี้องค์ประกอบดังกล่าวจะมีความแตกต่างกับ “กาแล” กล่าวคือ “กาแล” จะมีการประดับลวดลายด้วยการแกะสลักและเป็นเอกลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมไทยภาคเหนือ
การก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการในปลายปี 2544 ได้เปิดอาคารสำนักงานใหม่ในช่วงการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 20 โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ วัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์มาเป็นประธานพิธีเปิดอาคารสำนักงานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี พร้อมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายชัยพร รัตนนาคะ และประธานหอการค้าพร้อมคณะกรรมการหอการค้าจากทั่วประเทศในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 ณ สำนักงานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี
โครงการก่อสร้างสำนักงานหอการค้าฯ นั้นเป็นสิ่งที่ชาวอุดรฯ และสมาชิกหอการค้าฯ คณะกรรมการหอการค้าฯ ทุกสมัยภาคภูมิใจ เนื่องจากต้องใช้เวลาถึง 18 ปี จึงแล้วเสร็จ โดยไม่ได้มีการขอรับบริจาค หรือ ได้รับเงินช่วยเหลือจากส่วนราชการใด ๆ งบประมาณทั้งหมดมาจากการรวบรวมสะสมเงินทุนของคณะกรรมการบริหาร ทุกสมัย มาจากความร่วมแรงร่วมใจอย่างแท้จริง